Bangpakok Hospital

7 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อย

10 ม.ค. 2567

โรตทางจิตเวชเป็นโรคที่สังเกตุได้ยากหากคนใกล้ตัวหรือตัวเราเองไม่ได้มีอาการวันนี้เราจะพาไปดูโรคจิตเวชที่พบได้บ่อยกัน



1."โรคซึมเศร้า" เป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็น "โรคซึมเศร้า" ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้โดยมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ Depressive Episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้

2."
โรคแพนิค" (Panic) คือ ภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล หรือความกลัว ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเหมือนโดนจู่โจมทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่อันตรายใด ๆ ซึ่งอาการรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3-10 นาที เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจนานถึงหนึ่งชั่วโมง โดยอาการจะมีดังนี้

  • ใจเต้นเร็ว สั่นเหมือนตีกลอง
  • เจ็บบริเวณหน้าอก
  • หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกมึนงง โคลงคลง เป็นลม
  • รู้สึกชา หรือซ่า ตามปลายมือ ปลายเท้า
  • ตัวร้อนวูบวาบ หรือตัวสั่น
  • เหงื่อแตก
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง
  • ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน มีการรับรู้บิดเบือนไป
  • ความกลัวอย่างท่วมท้น ร่วมกับความรู้สึกสังหรณ์ว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวเกิดขึ้นกับตัวเองและเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ กลัวว่าจะตาย กลัวว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า หรือแสดงอาการบางอย่างที่น่าอายออากไป

3.โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของบุคลิกภาพ มีความผิดปกติด้านการรับรู้ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นแบบจำเพาะและอารมณ์เป็นแบบไม่เหมาะสม หรือ Blunted สติสัมปชัญญะและเชาวน์ปัญญามักดีอยู่ แม้ว่าจะมีการสูญเสียการรับรู้

อาการโรคจิตเภท

  1. ความคิดหลงผิด (Delusion) ที่พบบ่อย เช่น คิดว่ามีคนปองร้าย คิดว่าตนเองถูกควบคุมจากอำนาจภายนอก คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีอำนาจ หรือความสามารถพิเศษ

  2. การรับรู้ อาการประสาทหลอนทางด้านต่าง ๆ ที่พบบ่อย คือ หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดว่า หรือให้ทำตาม หรือไม่มีความหมาย

  3. การสื่อสาร พูดสับสน ไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องพูดเร็ว ไม่เชื่อมโยง หรือบางรายพูดน้อย ไม่ค่อยตอบคำถาม

  4. พฤติกรรมผิดจากเดิมเคยเป็น เช่น  สกปรก แปลก วุ่นวาย ตะโกน โดยไม่มีอะไรกระตุ้น พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย บางรายขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา เก็บตัว นั่งเฉย ๆ นาน ๆ ไม่สนุกสนาน

  5. อารมณ์ แสดงอารมณ์ลดลงมาก หน้าตาเฉยเมย ไม่สบตา


4.โรคสมองเสื่อม โดยปกติเซลล์สมองจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นการตายของเซลล์สมองจะไม่สามารถงอกใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่จำนวนเซลล์สมองที่ทำงานได้ยิ่งลดลงอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการฝ่อเหี่ยวล้ำหน้าไปอีก 

ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่ภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุน้อยกว่านั้นก็สามารถพบได้ แต่มักจะมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อของสมอง การได้รับสารพิษ เป็นต้น เมื่อเซลล์สมองฝ่อเหี่ยวลง จะส่งผลให้มีปัญหาในด้านความจำ ความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม


5.“โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ” หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

อาการของโรค PTSD

  • รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำ เช่น มีอาการฝันร้าย ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ
  • พยายามหลีกเลี่ยงกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ไม่ไปในสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ พยายามไม่พูดถึง
  • อารมณ์หรือการคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น รู้สึกห่างเหิน ไม่ยินดียินร้าย ไม่สามารถรู้สึกด้านบวกได้
  • ตื่นตัวมากเกินปกติ เช่น นอนไม่หลับ กลัวหรือตกใจ ง่ายกว่าปกติ
  • นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า การติดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

6."โรคอารมณ์สองขั้ว" หรือที่เรามักเรียกกันทั่วไปว่า “ไบโพลาร์” (Bipolar Disorder) สาเหตุสำคัญเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด สารเสพติด การเลี้ยงดู เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า สลับอารมณ์ดีผิดปกติ ราวกับเป็นคนละคน ต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 1 สัปดาห์

โรคไบโพลาร์ จะมีอาการพื้นฐานอยู่ทั้งหมด 4 อาการด้วยกัน ซึ่งอาการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนทางอารมณ์ เรี่ยวแรง และความคล่องตัว รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานอีกด้วย

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะเกิดการแบ่งอารมณ์เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ได้แก่ ขั้วอารมณ์คึกคัก (Mania) หรืออารมณ์ดีผิดปกติ และขั้วซึมเศร้า (Depress) โดยระยะเวลาในการแสดงอาการของแต่ละขั้วอาจยาวนานหลายวัน หรืออาจยาวนานหลายสัปดาห์

อารมณ์ของผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ บางคนอาจมีอารมณ์คึกคักก่อน แล้วจึงมีอาการแบบซึมเศร้าขึ้นมา หรืออาจะสลับกับอาการปกติต่อเนื่องกันไป

อารมณ์ดีผิดปกติ

  • คึกคัก มีกำลังวังชา
  • ไม่ยอมหลับ
  • พูดมาก
  • หงุดหงิดง่าย
  • เชื่อมั่นในตัวเองสูง
  • ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  • มีอารมณ์ทางเพศสูง

อารมณ์เศร้าผิดปกติ

  • เศร้า หดหู่
  • ไม่อยากพบใคร
  • ไม่อยากทำอะไร
  • คิดช้า ไม่มีสมาธิ
  • คิดลบ
  • คิดฆ่าตัวตาย

7."Phobia (โรคกลัว)" เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวสิ่งของหรือสถานการณ์บางอย่างเกินกว่าเหตุหรือกลัวอย่างไม่มีเหตุผล อาการของ Phobia นั้นรุนแรงกว่าอาการวิตกกังวลทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยจะเผชิญภาวะนี้เป็นระยะเวลานาน และมักแสดงปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายและจิตใจร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก หายใจถี่ หากอาการกลัวรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

โรคกลัวแบบจำเพาะ คือความรู้สึกกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ รวมถึงสถานการณ์หรือกิจกรรมบางอย่าง มักเกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น อาการอาจค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อโตขึ้น เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวเครื่องบิน โรคกลัวความสูง โรคกลัวเลือด โรคกลัวการแสดงออก เป็นต้น

โรคกลัวแบบซับซ้อน มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่และเป็นผลมาจากความรู้สึกหวาดกลัวสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างที่ฝังใจ โรคกลัวในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคกลัวที่ชุมชน เป็นความรู้สึกกลัวการอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือบางรายอาจมีความวิตกกังวลหากต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่หลบหนีได้ลำบากหรือไม่มีคนช่วยเมื่อเกิดอาการตื่นกลัว
  • โรคกลัวการเข้าสังคม ผู้ป่วยมักกลัวการพูดต่อหน้าบุคคลอื่น เนื่องจากเป็นกังวลว่าอาจทำตัวน่าอายในที่สาธารณะ ผูที่มีอาการรุนแรงอาจไม่กล้าออกไปเผชิญสังคมภายนอก เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือหลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง

อาการของโรคกลัว

อาการของโรค Phobia อาจเกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรงหรือเพียงจินตนาการถึงสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้กลัว ดังนี้

  • เกิดอาการตื่นกลัว ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ วิงเวียนศรีษะ พูดติดขัด ปากแห้ง คลื่นไส้ เหงื่อออก มือเท้าสั่น ความดันโลหิตสูง หมดสติ วิตกกังวลว่าตนเองจะตาย เป็นต้น
  • ควบคุมตนเองไม่ได้ แม้รู้ตัวว่าเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล
  • รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • พยายามทำทุกทางเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว ร้องไห้งอแง ไม่ยอมอยู่ห่างพ่อแม่ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว

หากความรู้สึกกลัวส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ เช่น ไม่กล้าออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

สาเหตุของโรคกลัว

Phobia แบ่งชนิดตามสิ่งที่แต่ละคนรู้สึกกลัว เช่น โรคกลัวความสูง โรคกลัวเข็มฉีดยา โรคกลัวเลือด โรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการกลัวเหล่านี้ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • การรับฟังหรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกกลัว เช่น ผู้ที่เสพข่าวเครื่องบินตกอาจเกิดความรู้สึกกลัวจนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนใกล้ชิดและลักษณะการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
  • กระบวนการทำงานของสมองที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ โรค Phobia มีแนวโน้มเกิดขึ้นในเด็ก ผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว หรือผู้ที่ต่อต้านสังคม มากกว่าบุคคลช่วงวัยอื่นหรือผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง





 




Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.