โรคงูสวัด
แพทย์เตือน ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีโรคร่วม เสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดเส้นประสาทอย่างรุนแรงและยาวนาน
ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งการนอน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน หากเกิดที่ใบหน้าหรือดวงตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือเกิดปัญหาทางระบบประสาทได้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำการป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อน
งูสวัด (Herpes zoster) เกิดจากอะไร
งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทในผู้
ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก
ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด คือใคร?
• ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
• ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน
• ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
• ผู้ที่เป็นมะเร็ง
• ผู้ป่วยติดเตียง
• ผู้ที่มีความเครียด
• ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
• ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
• ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
• ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด
• ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต
อาการงูสวัด เป็นอย่างไร?
อาการงูสวัดแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
งูสวัดระยะเริ่มมีอาการ (Preeruptive phase)
เป็นระยะที่เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่ แพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึก (Sensory ganglion) และรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชา เจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนข้างใดข้างหนึ่ง (unilateral) ของผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ร่วมกับมีอาการคัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือมีภาวะตาสู้แสงไม่ได้ งูสวัดระยะเริ่มมีอาการมีระยะเวลาประมาณ 1-3 วัน แต่จะยังไม่มีรอยโรคขึ้นที่ผิวหนัง
งูสวัดระยะออกผื่น (Acute eruption phase)
เป็นระยะที่มีรอยโรคขึ้นเป็นผื่นแดงที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ตามด้วยตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นพาดเรียงกันเป็นกลุ่มยาวตามแนวปมประสาทที่บริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวาของสีข้างลำตัว แผ่นหลัง หรือขา ด้านในด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยผื่นงูสวัดจะไม่กระจายตัวทั่วไปเหมือนผื่นโรคอีสุกอีใสและจะขึ้นเต็มที่ภายใน 3-5 วัน ผู้ที่เป็นงูสวัดระยะออกผื่นจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บแปลบที่ผิวหนังแม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาผื่นจะแตกออกกลายเป็นแผล ค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังภายใน 10-15 วัน ทั้งนี้ ผื่นงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นปกติ มักขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัด ผื่นงูสวัดอาจมีความรุนแรงกว่าและอาจขึ้นแบบพันรอบตัว
งูสวัดระยะฟื้นหายจากโรค (Chronic phase)
เป็นระยะหลังจากที่โรคงูสวัดสงบลง ผื่นงูสวัดจะค่อย ๆ ยุบตัวลง รอยโรคที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทจะค่อย ๆ จางหาย แต่จะยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนมีเข็มทิ่มตำ หรือเจ็บแปล๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจปวดไปอีกนานหลายปี
งูสวัดหลบใน (Zoster Sine Herpete: ZSH)
ผู้ที่เป็นงูสวัดบางรายอาจมีอาการงูสวัดหลบใน โดยจะมีอาการชา คัน ปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทรับความรู้สึกแต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการงูสวัดหลบใน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัด เป็นอย่างไร?
• อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN) โดยพบว่าราว 5-30% ของผู้ป่วยโรคงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะยังคงมี
อาการปวดเส้นประสาทต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน แม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการมักสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าคนอายุน้อย ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต ส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก อวัยวะส่วนที่ปวดไม่มีแรง หรือขยับอวัยวะส่วนที่ปวดได้น้อย
• “งูสวัดขึ้นตา” (Herpes zoster ophthalmicus/Ocular shingles) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่ทำให้เกิดผื่นงูสวัดขึ้นรอบดวงตา จนทำให้เกิดการระคายเคืองตาและมีอาการเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือจอประสาทตาอักเสบ ส่งผลทำให้เกิดตาพร่ามัว ตาสู้แสงไม่ได้ มีปัญหาในการมองเห็น เป็นต้อ หรือในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ตาบอด เป็นโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่มีอาการงูสวัดขึ้นตาควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
• ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems) งูสวัดอาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ทำให้ใบหน้าเป็นอัมพาต และอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว
• การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Bacterial skin infections) หากไม่ได้รักษาความสะอาดให้ดี งูสวัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่ทำให้ผื่นยุบตัวช้าลง เป็นรอยแดง และเกิดรอยแผลเป็น
• อาการปวดรุนแรง (Severe pain) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เมื่อเป็นโรคงูสวัดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าผู้อื่น และยังสามารถแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นได้
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เส้นเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดสมองแตก (ในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังรุนแรง)
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัดที่พบได้น้อยมาก
การป้องกันงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?
1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด: ผู้ที่เคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนในวันเด็ก ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดที่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง: ผู้ที่เป็นงูสวัดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายลุกลามสู่ผู้อื่นซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์ และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ที่เป็นโรคงูสวัดออกจากผู้อื่น
3.หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง: การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กับการออกกำลังกาย การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด และการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคงูสวัดได้
งูสวัดกี่วันหาย?
โดยทั่วไป งูสวัดสามารถหายได้ภายใน 3-5 สัปดาห์ นับตั้งแต่ระยะเริ่มมีอาการจนถึงระยะฟื้นหายจากโรค อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงนับจากที่เริ่มมีอาการ อาจหายจากโรคงูสวัดได้ภายใน 2 สัปดาห์
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำการป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อน
วันเวลาทำการ
โรงพยาบาลบางปะกอก-รังสิต2
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07:00 - 18:00 น.
ศูนย์ตรวจสุขภาพ ชั้น 1 โซน A โรงพยาบาลบางปะกอก-รังสิต 2
บางปะกอก-ปิยะเวท สหคลินิก
เปิดให้บริการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.30 - 20.00 น. / เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 - 20.00 น.
ติดต่อสอบถาม ศูนย์อายุรกรรม
โทรศัพท์ : 02-028-1111 ต่อ 10150
Call Center : 1745